ประวัติชมรมฯ

วงนักร้องประสานเสียง สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดตั้งเป็นวงขึ้นสำเร็จเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2516 เพื่อร้องถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ เนื่องในวันทรงดนตรีของมหาวิทยาลัย

อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะจัดตั้งเป็นวงขึ้นมานั้น ทางมหาวิทยาลัยซึ่งในขณะนั้นมี ศาสตราจารย์ ดร.อรุณ สรเทศน์ เป็นอธิการบดี ได้ขอให้คณะกรรมการพัฒนาดนตรีของมหาวิทยาลัยซึ่งมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรพล สุดารา เป็นประธาน จัดตั้งวงนักร้องประสานเสียงขึ้น เพื่อใช้ร้องในงานพิธีการต่างๆ ของมหาวิทยาลัยเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรพล สุดารา จึงได้เริ่มโครงการโดยการแต่งตั้งบุคคลต่างๆ เป็นกรรมการของคณะกรรมการพัฒนาดนตรีของมหาวิทยาลัย และมอบหมายให้อาจารย์ชัชวาล ทาสุคนธ์ ซึ่งเป็นรองประธานคณะกรรมการฯ เป็นผู้ร่างโครงการจัดตั้งวงนักร้องประสานเสียงแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้ร่างโครงการแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2515 จากนั้นจึงส่งโครงการให้ทางมหาวิทยาลัยอนุมัติ เมื่อโครงการได้รับการอนุมัติเรียบร้อยแล้ว มหาวิทยาลัยจึงมีคำสั่งแต่งตั้งให้อาจารย์ชัชวาล ทาสุคนธ์ เป็นผู้ประสานงานคัดเลือกนักร้องประสานเสียงรุ่นแรก

หลังจากที่ประกาศรับสมัครนักร้องประสานเสียงรุ่นแรกแล้ว ปรากฏว่ามีนิสิตทั้งชายและหญิงมาสมัครรับคัดเลือกเป็นนักร้องประสานเสียงกว่า 400 คน ซึ่งสถานที่ที่ใช้คัดเลือกนักร้องในครั้งนั้น คือ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยหลังจากการคัดเลือกแล้ว ได้นักร้องประสานเสียงรุ่นแรกทั้งชายและหญิงรวมกันทั้งหมด 108 คน จากนั้นจึงเริ่มฝึกซ้อมครั้งแรกในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2516 โดยมีอาจารย์หลายท่านร่วมกันฝึกสอน อาทิ คุณหญิงมาลัยวัลย์ บุณยะรัตเวช, นาวาตรีปิยะพันธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, น.ท.อารี สุขะเกศ, อาจารย์สารา เกษมศรี รวมถึงผู้ช่วยศาสตราจารย์ กำธร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้เป็นอาจารย์ของอาจารย์ชัชวาล ทาสุคนธ์ ก็มาช่วยฝึกสอนและให้คำปรึกษาแก่เหล่านักร้องประสานเสียงอยู่เป็นประจำ ทั้งนี้ในการซ้อมแต่ละครั้งมีคุณณัฐ ยนตรรักษ์ เป็นผู้เล่นเปียโน ท่านอาจารย์หลายท่านช่วยให้การขับร้องของวงนักร้องประสานเสียงพัฒนาขึ้นเป็นลำดับ สำหรับสถานที่ฝึกซ้อมในระยะแรกนั้นใช้หอประชุมของมหาวิทยาลัยและหอประชุมสถิติของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีสลับกันไป

วงนักร้องประสานเสียง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ออกแสดงครั้งแรก ด้วยนักร้องจำนวน 90 คน จากที่คัดเลือกไว้ 108 คน ณ ชั้นบนของหอประชุม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยขับร้องถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชโอรส และพระราชธิดา เนื่องในวันทรงดนตรีเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2516 จึงถือว่าวันนี้เป็นวันก่อตั้งวงนักร้องประสานเสียงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยขึ้นตรงกับโครงการพัฒนาดนตรีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ต่อมาวงนักร้องประสานเสียง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดตั้งเป็นชมรมนักร้องประสานเสียง สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือที่รู้จักกันในนาม CU CHORUS (Chulalongkorn University Chorus Club) อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ.2517 โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษา คือ อาจารย์ชัชวาล ทาสุคนธ์ และนายพรหมพล คุณนิธิ นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 ในขณะนั้นเป็นประธานชมรมคนแรก

หลังจากที่ได้รับการจัดตั้งเป็นชมรมแล้ว ในระยะแรกที่ทำการชมรมตั้งอยู่ที่ใต้ศาลาพระเกี้ยว บริเวณที่เป็นร้านสหกรณ์จุฬาฯ ในปัจจุบัน ต่อมาในปี พ.ศ.2521 ชมรมจึงได้ย้ายมาอยู่ที่ชั้น 3 ของสนามกีฬาจุฬาลงกรณ์ จนกระทั่งปี พ.ศ.2548 มหาวิทยาลัยได้ทำการปรับปรุงอาคารสนามกีฬาใหม่ ชมรมจึงย้ายลงมาอยู่ที่ชั้น 2 ของสนามกีฬาแทนจนถึงปัจจุบัน

ชมรมนักร้องประสานเสียง สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากจะตั้งขึ้นเพื่อสนองในงานพิธีการต่างๆ ของมหาวิทยาลัยแล้ว ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้นิสิตได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ปลูกฝังจิตสำนึกในการทำงานเพื่อส่วนรวมโดยใช้เสียงเพลงเป็นสื่อ รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างนิสิตต่างคณะอีกด้วย

ด้วยเหตุที่ชมรมนักร้องประสานเสียง สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อตั้งขึ้นเพื่อจุดประสงค์หลักในการสนองงานพิธีการของมหาวิทยาลัย ดังนั้นงานประจำของชมรมตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง จนถึงปัจจุบันจึงเป็นงานที่มีความสำคัญต่อนิสิตและมหาวิทยาลัย คือ การขับร้องในพิธีปฐมนิเทศนิสิตใหม่และพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาการศึกษาของทุกปี ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างบรรยากาศในงานรวมถึงเป็นการอวยพรให้กับผู้เข้าร่วมพิธีด้วย ยิ่งไปกว่านั้นชมรมฯ ยังมีโอกาสเข้าร่วมในงานสำคัญต่างๆ ของมหาวิทยาลัยเสมอ อาทิ พิธีประสาทปริญญากิตติมศักดิ์แก่ผู้นำประเทศต่างๆ เช่น ประธานาธิบดี บิล คลินตัน แห่งสหรัฐอเมริกา, ประธานาธิบดี เนลสัน แมนเดลา แห่งสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ รวมถึงงานพิธีเปิดอาคารหรือสถาบันในมหาวิทยาลัย เช่น อาคารแถบ นีละนิธิ คณะวิทยาศาสตร์ และสถาบันวิทยบริการ เป็นต้น

นอกจากงานของมหาวิทยาลัยแล้ว ชมรมนักร้องประสานเสียง สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังมีโอกาสเข้าร่วมในการแสดงเพื่อเฉลิมฉลองโอกาสสำคัญ ซึ่งเป็นวาระของประเทศหลายครั้ง เช่น การแสดงหน้าพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และคณะรัฐมนตรี คณะทูตานุทูตจากประเทศต่างๆ เนื่องในงานนานาชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในปี พ.ศ.2535 และยังได้รับความไว้วางใจจากหน่วยงานต่างๆ ภายนอกมหาวิทยาลัยอีกหลายหน่วยงานให้เป็นผู้ทำหน้าที่ขับกล่อมบทเพลงประสานเสียงในงานสำคัญต่างๆ จึงทำให้ชมรมมีโอกาสเข้าร่วมในงานสำคัญระดับประเทศมากมาย อาทิ พิธีเปิดงานกาชาด เมื่อปี พ.ศ.2522 พิธีเปิดประชุมองค์กรท่องเที่ยวภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก เมื่อปี พ.ศ.2526 พิธีปิดกีฬามหาวิทยาลัยโลกครั้งที่ 24 เมื่อปี พ.ศ.2550 เป็นต้น

นอกจากนั้นชมรมนักร้องประสานเสียง สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังได้มีโอกาสเข้าร่วมในกิจกรรมของหน่วยงานเอกชนอีกด้วย เช่น ร่วมร้องเพลงประกอบภาพยนตร์หลายเรื่อง อาทิ รักเอย และบ้านทรายทอง เป็นต้น นอกจากนั้นชมรมฯ ยังร่วมกิจกรรมที่เป็นสาธารณประโยชน์อีกมากมาย อาทิ ขับร้องเพลงประสานเสียง ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อหารายได้สมทบทุนอาหารกลางวันของนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือขับร้องเพลงประสานเสียงเพื่อหารายได้สมทบทุนสร้างโรงพยาบาลที่ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี เป็นต้น

จากผลงานของชมรมฯ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ชมรมนักร้องประสานเสียง สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีส่วนร่วมกับงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัยมากมาย ทั้งงานพิธีการและงานรื่นเริง อีกทั้งยังมีผลงานที่ออกแสดงนอกมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของสมาชิกในชมรม และความไว้วางใจจากบุคคลภายนอกเสมอ ทำให้ชื่อเสียงของชมรมนักร้องประสานเสียง สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นที่รู้จักกันในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการประกาศนามของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในวงการการขับร้องเพลงประสานเสียงเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการส่งเสริมศาสตร์แห่งการขับร้องประสานเสียงให้เป็นที่รู้จักสำหรับบุคคลระดับต่างๆ มากขึ้นด้วย

กว่าสามทศวรรษที่พ้นผ่าน ได้สรรค์สร้างประสบการณ์มากมายให้กับชมรม พัฒนาจากวงนักร้องประสานเสียงของโครงการพัฒนาดนตรี จนเป็นชมรมนักร้องประสานเสียง สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มั่นคงและมีชื่อเสียงอย่างในปัจจุบัน เป็นความภาคภูมิใจของสมาชิกชมรมฯ และผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทุกคน ซึ่งรากฐานนี้จะเป็นสิ่งที่สำคัญในการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของ CU CHORUS ให้ยั่งยืนคู่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสืบไป